โรคเบาหวานหมายถึงโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล อายุรแพทย์ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลนวเวช ได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานว่ามีหลายอย่าง และน้ำหนักของแต่ละอย่างก็ไม่เท่ากัน มีงานศึกษาปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างของเบาหวาน แล้วนำข้อมูลมาคำนวณเป็นคะแนนความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคต ซึ่งสามารถใช้ทำนายความเสี่ยงในอีก 12 ปีข้างหน้าได้อย่างแม่นยำพอสมควรในคนไทย
การแปลผลคะแนนความเสี่ยง คะแนนยิ่งสูง ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มมากขึ้น คะแนนสูงสุดคือ 17 คะแนน ผู้ที่ต้องการจะรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากน้อยแค่ไหนก็ลองทำตามตารางดู ถ้าได้ คะแนนตั้งแต่ 6 ขึ้นไป ควรจะไปตรวจเช็คเบาหวาน
ใครควรตรวจเบาหวาน
จากตารางข้างบนจะเห็นว่า เบาหวานมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง และแต่ละอย่างก็มีน้ำหนักไม่เท่ากัน แล้วในผู้ใหญ่ที่มีโอกาสเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ถึงมากกว่า 90% ควรจะคัดกรองเบาหวานเมื่อไหร่
- ในประชากรทั่วไป ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน (ดัชนีมวลกาย >25 กก./ตร.ม. หรือ >23 กก./ตร.ม.ในคนไทย) ที่มีข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
– มีประวัติเบาหวานในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง สายตรง
– มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
– เป็นความดันโลหิตสูง หรือรับประทานยารักษาอยู่
– ผู้ที่มีไขมันผิดปกติ HDL <35 มก/ดล. และ/หรือ Triglyceride >250 มก/ดล. หรือรับประทานยารักษา
– ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
– กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome) ในผู้หญิง
– ผู้ที่มีลักษณะทางคลินิกที่เกิดร่วมกับ “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน” (Insulin resistance) เช่น อ้วนมาก (severe
obesity) acanthosis nigricans (รอยปื้นดำ หนา ขรุขระ ที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น)
– เชื้อชาติที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อัฟริกันอเมริกัน ละติน อินเดียนแดง กลุ่มชนหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นต้น
– ผู้หญิงที่อ้วน และวางแผนที่จะมีบุตร ควรตรวจเบาหวาน หรือภาวะก่อนเบาหวาน ด้วย
บุคคลเหล่านี้ควรตรวจเบาหวานใน “ทุกอายุ”
- ผู้ที่อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (น้ำตาลสูงกว่าปกติ แต่ไม่ถึงเกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน)
– HbA1c = 5.7-6.4%,
– ค่าน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงขึ้นไป อยู่ระหว่าง 100-125 มก/ดล. (Impaired fasting glucose หรือ IFG คือน้ำตาลขณะอดอาหารบกพร่อง)
ควรได้รับการตรวจเบาหวาน “ทุกปี”
- ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus) ควรตรวจเบาหวานตลอดไป อย่างน้อยทุก 3 ปี (กรณีที่ยังไม่เป็น)
- ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ (HIV)
ซึ่งถ้าตรวจแล้วปกติ ควรตรวจอย่างน้อยทุก 3 ปี หรือแล้วแต่ปัจจัยเสี่ยง และผลการตรวจ
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงในภาวะก่อนเบาหวานและเบาหวานประเภทที่ 2
- ไม่มีใครทราบ “จุดเริ่มต้น” (onset) ของเบาหวาน จะเป็นเมื่อไหร่
- ส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไร หรืออาการน้อยจนไม่ทราบว่า นั่นคืออาการของเบาหวาน
- ถ้าชะล่าใจ หรือประมาท คิดว่าไม่เป็นอะไร อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังได้
- ถ้ารู้ตัวว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน สามารถป้องกัน หรือชะลอการเป็นเบาหวานในอนาคตได้
“มาตรวจเบาหวานกันเถิด” เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต ไม่ต้องกลัวถ้าจะต้องเป็น ดีกว่าเป็นโดยไม่รู้ ป้องกันดีกว่ารักษา เพราะฉะนั้น “มาตรวจเบาหวานกันเถิด” เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวาน และป้องกันเบาหวานไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน สามารถขอรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร.02 483 9999 www.navavej.com
ที่มา : https://www.thetaradev.com/