คุณหมอยง ภู่วรวรรณได้มาให้ความรู้พร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับ COVID-19 ที่สำนักงานใหญ่

#วันนี้18/3

คุณหมอยง ภู่วรวรรณได้มาให้ความรู้พร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับ COVID-19 ที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการเข้าใจไวรัสตัวนี้ และสำคัญมากที่จะนำความรู้ที่คุณหมอแชร์ไปวางแผนการจัดการสิ่งที่เราและบริษัทต้องเตรียมความพร้อม และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนที่กำลังจะมาถึง ประเด็นหลักๆที่คุณหมอแชร์มีดังนี้

1 ไวรัส COVID-19 ตัวนี้มีขนาดที่เล็กมาก ใส่หน้ากากอนามัยก็รอดเข้ามาได้ แต่ COVID-19 ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องจับอยู่ตามสารคัดหลั่ง (droplet) เช่น น้ำลาย หรือละอองจาม ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าการกรองของหน้ากาก เพราะฉะนั้นหน้ากากอนามัยช่วยสามารถป้องกันการเล็ดรอดเข้ามาและการแพร่ออกไปได้ในระดับหนึ่ง

2 ถึงประเทศจะวันตกจะบอกว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่ประเทศไทยต้องใส่ ยิ่งผู้ที่มีอาการป่วยยิ่งต้องใส่ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 บางคนไม่มีอาการหรือมีอาการแค่เล็กน้อย อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าติดไวรัสแล้ว ไปใช้ชีวิตในสังคมปกติ แพร่เชื้อออกไปโดยที่ไม่รู้ตัว เราสามารถลดการแพร่กระจายได้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย และคนที่ไม่ได้เป็นอะไรก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่งจากการใส่หน้ากาก

3 จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศจีน สามารถแบ่งอาการได้ดังนี้ 81% อาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย, 14% มีอาการ รู้ตัว ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล, 5% อาการหนัก รักษาใน ICU

4 จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในจีนมีเพียง 3% ที่เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตคือผู้สูงอายุ (70 ปี+) และ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตคือผู้ที่มีโรคประจำตัว ยกตัวอย่างเช่น ความดัน (ไวรัสตัวนี้โจมตีโปรตีน ACE2 ที่พ่วงอยู่กับความดันเพราะฉะนั้นควรกินยาให้ความดันอยู่ในค่าปกติเพื่อลดความเสี่ยง) เบาหวาน โรคหัวใจ และอื่นๆ

5 ความรุนแรงของอาการและความเสี่ยงเสียชีวิตของ COVID-19 สูงไปตามอายุ เรียกได้ว่าไวรัสตัวนี้เกิดมาเพื่อเล่นงานผู้สูงวัยในเคสของประเทศจีน จากจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีที่ติด COVID-19 ทั้งหมดไม่มีเคสอาการรุนแรงและเสียชีวิตเลยแม้แต่เคสเดียว ไม่ว่าจะเป็นเคสเด็กทารก 3 อาทิตย์ หรือ 8 อาทิตย์ล้วนหายจากไวรัสตัวนี้ทั้งหมดโดยไม่มีอาการมาก เด็กที่อายุระหว่าง 11-20 ปี มีจำนวนต่ำกว่า 0.2% ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการติดเชื้อให้ได้มากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงวัย

6 ทำไมเราต้องเก็บตัวดูอาการ 14 วัน? จากสถิติเคสในประเทศจีน 80%ของผู้ป่วยทั้งหมด เชื้อมีระยะฟักตัวและออกอาการภายใน 2-7 วัน และมีผู้ป่วยเพิ่มอีก 10%ในระยะฟักตัว 14 วันซึ่งถือว่าค่อนข้างคลอบคลุมในการสังเกตอาการ ถ้าถามว่าระยะฟักตัวหรือออกอาการหลังจาก 14 วันมีมั้ย คำตอบคือมี แต่จะเป็นส่วนน้อยมาก หากใครมีจิตสาธรณะและการหยุดไม่ได้เดือดร้อนอะไร จะเก็บตัวดูอาการไปถึง 21 วันก็ได้

7 สถานการณ์ปัจจุปันในประเทศไทย เรียกว่ากำลังอยู่ในระยะขาขึ้น จากที่ตัวเลขทรงตัวมาช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่เราได้เห็นจากข่าว หลักๆมาจาก Super Spreader สนามมวย ในเคสของสนามมวยนี้หากคำนวนตามสมการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ผู้ติดเชื้อมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งกระจายไปตามที่ต่างๆเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายกำลังติดตามให้ได้มากที่สุด เคสนี้น่าจะแพร่ไปในวงกว้างยิ่งกว่าอาจุมม่าแทกูของเกาหลีใต้

8 ทำไมสนามมวยถึงเป็นสถานที่แพร่ได้ดีมาก? สนามมวยเป็นที่รวมตัวของคนจำนวนมาก แออัด นั่งติดกัน ยืนติดกันแบบไหล่ชิดไหล่ การเชียร์มวยอุดมไปด้วยสารคัดหลั่งมากมายทั้งน้ำลาย เหงื่อ หรือละอองจาม เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีลักษณะแบบนี้เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ

9 อีกเคสที่ติดกันมากคือเคสปาร์ตี้แชร์แก้วเหล้าและบุหรี่ ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดติดผ่านสารคัดหลั่งเช่นตอนนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ทั้งหมด

10 COVID-19 จะอยู่กับเรานานไปถึงเมื่อไหร่? จากการศึกษาข้อมูลของการแพร่ระบาดโรคต่างๆในอดีตกับการศึกษาลักษณะของไวรัสตัวนี้ COVID-19 คงคาดเดาได้ว่าจะอยู่กับประเทศไทยอย่างน้อย 1 ฤดูกาล ร้อนจัดๆแบบประเทศไทยก็คงจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่น่ากังวลคือฤดูฝนที่ตามมา เพราะไวรัสตัวนี้ชอบความชื้น จะมีชีวิตอยู่ได้ยาวและแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเป็นอย่างมากในช่วงฤดูนี้ สถานการณ์ COVID-19 คงจะเป็นแบบนี้ไปอย่างน้อยถึงกันยายน 2563 หากยังไม่มีวัคซีนเข้ามาช่วยชะลอการแพร่ระบาด

11 ตอนนี้การรับรองทางการแพทย์ไหวมั้ย? ยังพอไหวถ้าคนไข้ไม่ได้เทเข้ามาในช่วงเดียวกัน แต่หากมีการแพร่ระบาดฉับพลันและจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นมาก อุปกรณ์ทางการแพทย์จะรองรับไม่พอ ยิ่งในโรงพยาบาลในต่างจังหวัดจะลำบากและได้ผลกระทบมาก นอกจากนี้ยารักษาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มีจำนวนจำกัดและโดนควบคุม ปัจจุบันซื้อได้ลอทนึงจากประเทศญี่ปุ่นแต่มีจำนวนไม่มาก ต้องรอประเทศจีนที่กำลังทยอยให้ความรู้เพิ่มเติมของไวรัสตัวนี้เพื่อพัฒนาหนทางต้านและรักษา ตอนนี้ต้องช่วยกันยื้อเวลาที่จะเข้าสู่การแพร่ระบาดไปในวงกว้างให้ได้นานที่สุดเพื่อจะได้มีเวลารักษาคนที่เป็นแล้วและมียาพร้อมรักษาคนที่จะป่วยเพิ่ม

12 เราในฐานะคนหนึ่งคนทำอะไรได้บ้าง? สิ่งที่ประชาชนแม้แต่คนเดียวช่วยกันทำได้ คือลดความเสี่ยงของตัวเอง หากเราไม่ติดเชื้อ เราก็จะไม่แพร่เชื้อไปต่อ

ควรทำยังไงบ้าง?

13 เราควรเลี่ยงหรือลดความถี่ไปในสถานที่คนเยอะๆ หากมีความจำเป็นต้องไปให้ใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือบ่อยๆ คนไหนมีอาการป่วยควรเลี่ยงตัวเองออกจาชุมชนและสังเกตอาการ พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ ที่สำคัญอย่าปกปิดข้อมูล ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตามความจริงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

14 การล้างมือควรล้างบ่อยๆ บ่อยแค่ไหน? ทุกครั้งที่เปลี่ยนกิจกรรม ก่อนรับประทานอาหาร หรือตอนที่รู้ตัวว่ามือสกปรกแล้ว จะเซทเวลาทุกๆกี่นาที่เดินไปล้างมือก็ได้ ห้ามเด็ดขาดคือการนำมือสกปรกไปจับบริเวนหน้า เพราะไวรัส COVID-19 ตัวนี้จะเข้าทางพวกเยื่อบุซึ่งคือทาง ตา จมูก ปาก COVID-19 จะไม่เข้าผ่านผิวหนังถึงแม้ว่าจะมีแผล การล้างมือล้างด้วยน้ำสบู่ก็เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้แล้ว COVID-19มีเปลือกเป็นไขมัน (Lipid) จะถูกทำลายได้ง่ายเมื่อโดนน้ำสบู่ที่ไปล้างเปลือกไขมันออก หากไม่มีสบู่ สามารถใช้แอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% (ห้ามต่ำกว่า 70%เพราะแอลกอฮอล์เมื่อเทใช้จะมีการระเหยออก ความเข้มข้นจะหายไปด้วยและอาจไม่เพียงพอต่อการทำลายไวรัส) หรือน้ำคลอลีน (ดูความเข้มข้น) แทน

15 หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่ผ่านการสัมผัสทั้งหมด ยิ่งพิ้นผิวสัมผัสเรียบเช่นสเตนเลส อลูมิเนียม ลูกบิด ราวรถไฟฟ้า จะติดไวรัสง่าย พื้นที่ที่ผิวขรุขระเช่นเสื้อผ้าติดได้น้อยกว่า

16 ไวรัสปนเปื้อนลงในอาหารได้ไหม? คำตอบคือได้ ควรรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อน ไวรัส COVID-19 จะตายเมื่อผ่านความร้อน 56 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลา 30 นาที และระยะเวลาจะลดลงเรื่อยๆเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เชื้อ COVID-19 จะตายทันทีเมื่อความร้อนถึงจุดเดือด 100 องศาเซลเซียส ตรงกันข้ามกับความเย็น ยิ่งความเย็นมากเท่าไหร่ยิ่งอยู่ยาวมากขึ้น ถ้าตู้เย็นติดลบไวรัสตัวนี้สามารถอยุ่ได้เป็นเดือน

17 จะระยะไหนตอนนี้ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือทุกคนต้องรู้ว่าควรทำอะไรในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ประมาท ลดความเสี่ยง และลดการแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด เราไม่อยากเป็นผู้ป่วย คนอื่นก็ไม่อยากเป็นผู้ป่วยเช่นกัน ต้องรู้ตัวเองและมีจิตสำนึกต่อสังคมให้มาก

18 สุดท้ายตระหนักได้ แต่ต้องไม่ตระหนก อย่าไปเครียดเกินไปหากเราทำสุดความสามารถของเราแล้ว

ขอให้ความรู้ทั้งหมดที่ได้มาวันนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน และหวังว่าทุกคนจะช่วยกันคนละไม้คนละมือในการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19